ละคอนเรื่องนี้ไม่ใช่ได้เนื้อเรื่องหรือตัดตอนมาจากแห่งใด ๆ เลย, จึ่งขอบอกไว้ให้ผู้อ่านทราบเพื่อไม่ต้องเสียเวลาไปเที่ยวค้นหาเรื่องนี้ในหนังสือโบราณใด ๆ แก่นแห่งเรื่องนี้, ได้เคยมีติดอยู่ในใจของฃ้าพเจ้ามาช้านานแล้ว, แต่เพราะเหตุต่าง ๆ ซึ่งไม่จำจะต้องแถลงในที่นี้ ฃ้าพเจ้ามิได้ลงมือแต่งเรื่องนี้, จนมาเมื่อกลางปี พ.ศ. ๒๔๖๖, เมื่อได้บังเกิดมีเหตุบังคับให้ฃ้าพเจ้าต้องอยู่นิ่ง ๆ เงียบ ๆ, ฃ้าพเจ้าจึงได้หวลนึกขึ้นถึงเรื่องนี้. เมื่อนึกตั้งโครงเรื่องขึ้นได้แล้ว, ได้เกิดมีปัญหาขึ้นว่าจะให้นางในเรื่องนี้ถูกสาปเปนดอกไม้อย่างใด, มีผู้เห็นกันโดยมากว่าควรให้เปนดอกกุหลาบ, เพราะเปนดอกไม้ที่คนทั้งโลกทุกชาติทุกภาษานิยมว่างามและหอมชื่นใจยิ่งกว่าดอกไม้อย่างอื่นๆ. ถ้าในภารตะวรรษไม่เคยมีดอกกุหลาบ จะแต่งลงไปว่ามีดูเปนการฝ่าฝืนธรรมดาไป, อาจทำให้ถูกติว่าเปนคนตื้นก็ได้. ก่อนที่ได้ทราบว่าดอกกุหลาบเรียกว่าอย่างไรในภาษาสันสกฤตนั้น, ฃ้าพเจ้าได้นึกไว้ว่าจะให้ชื่อนางเอกในเรื่องนี้ตามนามแห่งดอกไม้; แต่เมื่อได้ทราบแล้วว่าดอกกุหลาบคือ “กุพฺชก” เลยต้องเปลี่ยนความคิด, เพราะถ้าแม้ว่าจะให้ชื่อนางว่า“กุพฺชกา” ก็จะกลายเปนนางค่อมไป.

กุหลาบ คําไวพจน์

ฃ้าพเจ้าจึ่งค้นหาดูศัพท์ต่างๆ ที่ พอจะใช้ได้เปนนามสตรี, ตกลงเลือกเอา “มัทนา”, จากศัพท์ “มทน” ซึ่งแปลว่าความลุ่มหลงหรือความรัก. พะเอินในขณที่ค้นนั้นเองได้พบศัพท์ “มทนพาธา”, ซึ่งโมเนียร์ วิลเลียมส๎ แปลไว้ว่า “the ache or disquietude of love (“ความเจ็บหรือเดือดร้อนแห่งความรัก”) ซึ่งฃ้าพเจ้าได้ฉวยเอาทันที, เพราะเหมาะกับลักษณะแห่งเรื่องทีเดียว. ส่วนวิธีเล่นเรื่อง “มัทนะพาธา” นี้, ฃ้าพเจ้ากำหนดไว้ให้ตัวละคอนพูดบทของตนเอง, ไม่ใช่ร้องบทนั้น ๆ อย่างแบบที่เรียกกันว่า “ละคอนดึกดำบรรพ์”, ต่อเมื่อบทใดเปนบทขับร้องจึ่งให้ร้อง; กับให้มีดนตรีเล่นคลอเสียงเบา ๆ ในเวลาที่เจรจา, และมีน่าพาทย์กำหนดลงไว้บางแห่งเพื่อช่วยการดำเนิรแห่งเรื่อง. ตามที่หลวงธุระกิจภิธาน ค้นได้ความมาเช่นนี้ ฃ้าพเจ้าคเณว่าผู้ที่เปนนักเลงหนังสือและนักเรียนคงจะพอใจที่จะได้ทราบด้วย, ฃ้าพเจ้าจึ่งได้นำมาลงไว้ในที่นี้, และฃ้าพเจ้าถือเอาโอกาสนี้เพื่อขอบใจหลวงธุระกิจภิธาน ในการที่ได้เอาใจใส่ค้นศัพท์นี้ได้สมปราถนาของฃ้าพเจ้า.

กุหลาบ คําไวพจน์